สมุนไพรกระชาย ชื่อวิทยาศาสตร์ Boesenbergia rotunda (L.) Mansf. จัดอยู่ในวงศ์ขิง
สำหรับกระชายนั้น ยังมีชื่อเรียกอื่น ๆ ที่แต่ละภูมิภาคต่างๆ ใช้เรียกไม่เหมือนกัน อย่างเช่นเรียกว่า ว่านพระอาทิตย์ กระชายดำ กะแอน ขิงทราย จี๊ปู ซีฟู เปาซอเร๊าะ เป๊าสี่ เป๊าะสี่ ระแอน เป๊าะซอเร้าะ ละแอน และ ขิงจีน เป็นต้น
ลักษณะของกระชายมีดังนี้
ลำตัน
แหล่งกำเนิดของกระชายในเขตร้อน บริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กระชายจัดเป็นไม้ล้มลุก มีเหง้าสั้น แตกหน่อได้ มีรากอวบ เป็นรูปทรงกระบอกหรือรูปทรงไข่ค่อนข้างยาว ปลายเรียว มีความยาวประมาณ 4-10 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 1-2 เซนติเมตร ออกเป็นกระจุกๆ มีผิวสีน้ำตาลอ่อน ส่วนเนื้อในมีสีเหลืองและมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว
ใบ
ลักษณะใบของกระชาย คือส่วนที่อยู่เหนือดิน มีประมาณ 2-7 ใบ เป็นใบเดี่ยวๆ เรียงสลับ ลักษณะเป็นรูปรี ใบยาวประมาณ 12-50 เซนติเมตรและกว้างประมาณ 5-12 เซนติเมตร โคนใบมนหรือแหลม ส่วนปลายใบเรียวแหลม มีขอบเรียบ เส้นกลางใบ ด้านใบ และกาบใบด้านบนจะเป็นร่อง ส่วนด้านล่างจะนูนเป็นสัน ด้านใบเรียบมีความยาวประมาณ 7-25 เซนติเมตร ส่วนกาบใบเป็นสีชมพูยาวประมาณ 7-25 เซนติเมตร ระหว่างก้านใบและกาบใบจะมีลิ้นใบ
ดอก
ดอกของกระชาย จะออกดอกเป็นช่อแบบช่อ โดยจะออกที่ยอดระหว่างกาบใบคู่ในสุด มีความยาวประมาณ 5 เซนติเมตร แต่ละดอกจะมีใบประดับ 2 ใบ มีสีขาวหรือสีขาวอมชมพูอ่อน ๆ เป็นรูปใบหอกกว้างประมาณ 8 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 3.5-4.5 เซนติเมตร
การจำแนกประเภทของกระชายมี 3 ชนิดดังนี้
กระชาย มีอยู่ด้วยกัน 3 ชนิด คือ กระชายดำ กระชายแดง และกระชาย โดยกระชายเป็นพืชสมุนไพรที่คนไทยต่างรู้จักกันเป็นอย่างดี สามารถนำมาปรุงเป็นอาหารได้หลากหลายเมนู โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการนำมาใช้เป็นส่วนผสมสำคัญในแกงป่า หรือผัดต่าง ๆ โดยส่วนที่นิยมนำมาใช้ประกอบอาหารกันมากที่สุดคือ รากสะสมอาหาร หรือที่เรียกว่า นมกระชาย คนส่วนใหญ่มักจะนิยมนำมาใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องแกงต่างๆ เพราะมีคุณสมบัติในการช่วยดับกลิ่นคาว ของเนื้อสัตว์ เนื้อปลา ได้
สรรพคุณของกระชาย มีสรรพคุณทางยามากมาย จนได้ชื่อในวงการแพทย์แผนไทยว่าเป็น “โสมไทย” เนื่องจากกระชายกับโสมมีความคล้ายคลึงกันหลายอย่าง เช่น สรรพคุณในการบำรุงกำลังและเสริมสมรรถภาพทางเพศ ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของสมุนไพรทั้งสองชนิด ทั้งกระชายและโสมต่างก็เป็นพืชที่มีส่วนสะสมอาหารที่ใช้เป็นยาอยู่ใต้ดินเหมือนกัน
สรรพคุณของกระชาย
- ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (ใบ)
- กระชายมีสรรพคุณช่วยบำรุงร่างกาย เป็นยาอายุวัฒนะ
- ช่วยบำรุงกระดูกช่วยทำให้กระดูกไม่เปราะบาง
- ช่วยปรับสมดุลของฮอร์โมนต่าง ๆ ในร่างกาย
- สรรพคุณกระชายช่วยแก้โลหิตเป็นพิษ (ใบ)
- ช่วยแก้อาการบิดมูกเลือด (เหง้า, ราก)
- ช่วยควบคุมไม่ให้ต่อมลูกหมากโต
- ช่วยบำรุงกำหนัด แก้อาการกามตายด้าน (เหง้าใต้ดิน)
- กระชายเหลืองมีสรรพคุณช่วยแก้ลมวิงเวียน แน่นหน้าอก
- ช่วยบำรุงกำลัง เสริมสมรรถภาพทางเพศ บำบัดโรคนกเขาไม่ขันหรือโรคอีดี (Erectile Dysfunctional หรือ ED) (เหง้าใต้ดิน)
- ช่วยบำรุงหัวใจ ด้วยการใช้เหง้าและรากของกระชายนำมาปอกเปลือก ล้างน้ำให้สะอาด นำมาหั่นตากแห้งแล้วบดจนเป็นผง และให้ใช้ผงแห้งที่เตรียมไว้ประมาณ 1 ช้อนชา นำมาชงกับน้ำร้อนครึ่งถ้วยชา แล้วรับประทานเพียงครั้งเดียว (เหง้า, ราก)
- ช่วยบำรุงสมอง เพราะช่วยทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองส่วนกลางได้ดีมากขึ้น
- ช่วยปรับสมดุลของความดันโลหิตในร่างกาย ช่วยลดความดันโลหิตเมื่อความดันโลหิตสูง แต่เมื่อความดันโลหิตต่ำก็จะช่วยทำให้ความดันเพิ่มขึ้นจนเป็นปกติ
- กระชายมีสรรพคุณทางยาช่วยแก้โรคในปากและคอ เช่น ปากเปื่อย ปากแห้ง ปากเป็นแผล (ใบ, เหง้า)
- ช่วยแก้ฝ้าขาวในปาก ด้วยการใช้กระชายที่ล้างสะอาดนำมาบดแบบไม่ต้องปอกเปลือก แล้วใส่ในโถปั่นพอหยาบ แล้วนำมาใส่ขวดปิดฝาแช่ไว้ในตู้เย็น แล้วนำมากินก่อนอาหารครั้งละ 1 ช้อนชาเล็ก กินวันละ 3 มื้อก่อนอาหารประมาณ 15 นาที ประมาณ 1 อาทิตย์ (ราก)
- เหง้าใต้ดินมีรสเผ็ดร้อนและขม มีสรรพคุณช่วยแก้อาการปวดท้อง มวนในท้อง อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ด้วยการใช้เหง้าและรากประมาณครึ่งกำมือ ถ้าสดให้ใช้ประมาณ 5-10 กรัม แต่ถ้าเป็นแห้งให้ใช้ประมาณ 3-5 กรัม แล้วนำมาต้มเอาน้ำดื่มแก้อาการ หรือจะนำมาใช้ปรุงเป็นอาหารไว้รับประทานก็ได้เช่นกัน (เหง้าใต้ดิน)
- ช่วยแก้อาการท้องร่วง ท้องเดิน ด้วยการใช้เหง้าสด 1-2 เหง้า ใช้เหง้าที่ปิ้งไฟแล้วนำมาฝนหรือตำผสมกับน้ำปูนใส หรือจะคั้นให้ข้น ๆ แล้วนำมารับประทานครั้งละ 1-2 ช้อนชาก็ได้ (เหง้า, ราก)
- ช่วยแก้บิด โดยใช้เหง้าสดประมาณ 2 เหง้า นำมาบดจนละเอียดแล้วเติมน้ำปูนใส คั้นเอาแต่น้ำมาดื่ม (เหง้าสด)
- ช่วยรักษาอาการท้องเดินในเด็ก (เหง้า, ราก)
- รากกระชายมีสรรพคุณช่วยแก้โรคกระเพาะ (ราก)
- ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้อาการปัสสาวะพิการ (เหง้า, ราก)
- ช่วยบำรุงตับและไตให้แข็งแรง ช่วยรักษาโรคไต ช่วยทำให้ไตทำงานได้ดียิ่งขึ้น
- ช่วยป้องกันไทรอยด์เป็นพิษ
- ช่วยรักษาอาการกระเพาะปัสสาวะเกร็ง ซึ่งในกรณีนี้อาจจะต้องใช้เม็ดบัวที่ต้มแล้วนำมารับประทานร่วมด้วย
- ช่วยแก้อาการไส้เลื่อนในเพศชาย
- ช่วยบำรุงมดลูกของสตรี ป้องกันไม่ให้มดลูกโต
- แก้อาการตกขาว ช่วยขับระดูขาวของสตรี (เหง้า)
- ช่วยขับน้ำคาวปลาของสตรีหลังคลอดบุตร
- ใช้เป็นยารักษาริดสีดวงทวาร ด้วยการใช้เหง้าสดประมาณ 60 กรัม (6-8 เหง้า) นำมาผสมกับเนื้อมะขามเปียกประมาณ 60 กรัม เกลือแกง 3 ช้อนแกง และนำมาตำแล้วต้มกับน้ำ 6 แก้ว แล้วเคี่ยวจนเหลือ 2 แก้ว นำมารับประทานครั้งละครึ่งแก้วก่อนนอน แล้วรับประทานติดต่อกันประมาณ 1 เดือนจนกว่าจะหาย (เหง้าใต้ดิน)
- ใบช่วยถอนพิษต่าง ๆ (ใบ)
- ช่วยแก้อาการปวดเมื่อย ด้วยการใช้เหง้าหรือรากแก่ ๆ นำมาหั่นเป็นแว่นบาง ๆ แล้วนำไปตากแห้งและนำมาชงกับน้ำดื่ม
- เหง้าและรากใช้เป็นยาภายนอก สรรพคุณช่วยรักษาขี้กลาก ขี้เกลื้อน (เหง้า, ราก)
- ช่วยรักษาโรคน้ำกัดเท้า ด้วยการใช้รากกระชายทั้งเปลือกมาล้างแล้วผึ่งให้แห้ง ฝานเป็นแว่น ๆ และนำไปบดให้เป็นผงหยาบ ๆ และใช้น้ำมันมะกอกหรือน้ำมันมะพร้าวมาอุ่นในหม้อใบเล็ก ๆ เติมผงกระชาย ใช้น้ำมัน 3 เท่าของปริมาณกระชาย แล้วนำมาหุงด้วยไฟอ่อน ๆ ราว 15-20 นาที แล้วกรองกระชายออก เก็บน้ำมันไว้ในขวดแก้วสีชา นำมาใช้ทาบริเวณที่เป็น (ราก)
- ช่วยแก้อาการคันหนังศีรษะจากเชื้อรา ด้วยการใช้น้ำมันดังกล่าว (จากสูตรรักษาโรคน้ำกัดเท้า) นำมาเข้าสูตรทำเป็นแชมพูสระผม หรือจะใช้น้ำมันกระชายโกรกผมแล้วนวดให้เข้าหนังศีรษะก็ได้ แล้วค่อยล้างออก (น้ำมันกระชาย)
- ช่วยรักษาฝีด้วยการใช้เหง้ากับรากมาตำให้ละเอียดแล้วนำมาทาหัวฝีที่บวม จะทำให้หายเร็วยิ่งขึ้น (เหง้า, ราก)
- เหง้ามีฤทธิ์ในการช่วยต้านเชื้อราที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคผิวหนังและโรคในช่องปากดีพอสมควร (เหง้า)
- กระชายมีสารที่ออกฤทธิ์ช่วยต้านการก่อการกลายพันธุ์ โดยการบริโภครากกระชายสามารถช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งได้
- กระชายมีสารที่ออกฤทธิ์ทำให้อนุมูลอิสระเป็นกลาง จึงมีผลช่วยลดความเสียหายของการเกิดอนุมูลอิสระภายในร่างกายได้
- กระชายมีฤทธิ์ช่วยต้านการอักเสบ การบริโภคกระชายเป็นประจำอาจได้ผลคล้ายกับการรับประทานยาแอสไพรินและอาจจะช่วยป้องกันการเกิดโรคที่มีสาเหตุมาจากการอักเสบเรื้อรังภายในร่างกายได้
ประโยชน์ของกระชาย
- ประโยชน์กระชายสามารถนำมาทำเป็นน้ำกระชายปั่น ดื่มเพื่อเพิ่มความสดชื่น บำรุงร่างกาย ทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่าได้เป็นอย่างดี
- น้ำกระชายช่วยทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่ายิ่งขึ้น ช่วยทำให้เหนื่อยลง
- ช่วยทำให้เส้นผมแข็งแรง เปลี่ยนผมขาวให้กลับเป็นดำ ช่วยทำให้ผมบางกลับมาหนาขึ้น และช่วยแก้ปัญหาผมหงอก ผมร่วงได้
- รากนำมาใช้เป็นเครื่องแกงในการประกอบอาหาร ช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อและปลาได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาดุก ปลาไหล ปลากุลา เป็นต้น และยังทำให้อาหารมีกลิ่นและรสที่หอมแบบเป็นเอกลักษณ์อีกด้วย
- รากกระชายสามารถช่วยไล่แมลงได้ ด้วยการนำตะไคร้ ข่า หอมแดง ใบสะเดาแก่ นำมาตำผสมกันแล้วใช้ผสมกับน้ำฉีดในบริเวณที่มีแมลงรบกวน
สำหรับวันนี้จะมาแนะนำสูตรเด็ด เคล็ดลับ ในการทำน้ำกระชายไว้รับประทานเอง แบบง่ายๆ รับรองว่าดีต่อสุขภาพแน่นอนค่ะ
วิธีทำน้ำกระชาย
- เตรียมวัตถุดิบดังนี้ กระชายเหลืองสดครึ่งกิโล น้ำผึ้ง น้ำมะนาว น้ำเปล่าต้มสุกที่ทิ้งไว้จนเย็น
- วิธีทำขั้นตอนแรกให้นำกระชายมาล้างให้สะอาด ตัดรากที่รกรุงรังออก ตัดหัวและท้ายทิ้งไป ถ้าขูดเปลือกออกบ้างก็จะดีมาก
- นำกระชายมาหั่นเป็นท่อน ๆ เพื่อให้ง่ายต่อการนำมาปั่น เตรียมผ้าขาวบางรองด้วยกระชอนไว้ให้พร้อม
- นำกระชายที่เตรียมไว้ใส่ในโถปั่นและผสมกับน้ำเปล่าต้มสุกพอประมาณ แล้วปั่นจนละเอียด เสร็จแล้วให้เทใส่กระชอนที่เตรียมไว้ ถ้าน้ำน้อยก็ให้ผสมน้ำเปล่าลงไปอีก แล้วคั้นเอาแต่น้ำ เทใส่ภาชนะที่เตรียมไว้
แค่นี้คุณก็จะได้น้ำกระชายเหลืองสด ๆ หอมๆ ซึ่งคุณสามารถเก็บไว้ในตู้เย็นเพื่อไว้รับประทานได้หลายๆ ครั้ง เวลาจะดื่มก็เพียงแค่นำมาผสมกับน้ำมะนาว น้ำผึ้งในถ้วยหรือแก้ว แล้วคนให้เข้ากัน ชิมรสชาติ ให้ได้รสกลมกล่อมตามที่ต้องการ
หมายเหตุ : น้ำกระชายไม่ควรเก็บไว้นานๆ เพราะจะทำให้ความซ่าและความหอมของกระชายลดน้อยลง ทำให้เกิดตะกอนที่ก้น ควรดื่มให้หมดภายใน 1 อาทิตย์จะดีที่สุด เพราะจะได้ทั้งรสชาติที่ซ่า ดื่มแล้วชื่นใจและยังได้สรรพคุณเต็มที่มากกว่า แต่สำหรับผู้ที่ดื่มน้ำกระชายแล้วมีอาการแปลก ๆ ร้อนวูบวาบ หรือมีอาการเหงื่อออกหรือเรอออกมาก็ไม่ต้องตกใจ เพราะเป็นอาการปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ ลองไปทำทานกันดูนะค่ะ